"สุขแล้วร่ำลา เอาความเชื่อ เงากว้างเจ็ด" เป็นนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นโดย INVISIBLE PROJECT จากการร่วมกันสร้างหัวข้อและกำหนดความหมายของงานทั้งหมดร่วมกัน ด้วยศิลปินในโครงการรวมทั้งหมด 8 คน ศิลปินแต่ละคนสร้างสรรค์ผลงานซึ่งมีความแตกต่างกันในรูปแบบ เทคนิค และวิธีการ ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน มีเนื้อหาแตกต่างกันแต่ยังคงอยู่ภายใต้รูปประโยคและความหมายของตัวอักษรที่ถูกนำมาเรียงและจัดวางขึ้นใหม่ การแสดงงานร่วมกันในครั้งนี้ของศิลปินทั้งหมด เป็นเหมือนภาพเล่าเรื่องราวต่างๆ สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกันในเชิงการจัดการและตอบโต้กันในเนื้อหาอันมีที่มาที่ไปเดียวกัน เป็นทัศนคติ ความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ใหม่ที่ร่วมสร้างขึ้นพร้อมๆกัน ผ่านความหมายของชิ้นงานของศิลปินแต่ละคนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
JITTI JUMNIANWAI
"สติ เป็นผลงานภาพถ่ายและการจัดวางบนผนังของ จิตติ จำเนียรไวย ผลงานทั้งหมดของจิตติสร้างขึ้นด้วยเทคนิคและวิธีการที่แปลกไปจากผลงานเดิมที่เคยสร้างสรรค์ขึ้น จากการถอดรหัสของตัวอักษรทั้งหมด จิตตินำตัวอักษรกลับมาใช้ใหม่ในผลงานด้วยการสลับที่ และจัดเรียงรูปประโยคใหม่ บนป้ายสุภาษิตที่สอนเกี่ยวกับเรื่องศาสนาในวัดหรือสภานธรรม ความน่าสนใจในรูปประโยคทั้งหมดที่ศิลปินสร้างขึ้น ไม่ได้อยู่ที่อ่านแล้วแปลว่าอย่างไร หรือเรียงแล้วความหมายของตัวอักษรเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางใด หากแต่อยู่ที่คุณค่าของวัตถุและความหมายเิดิมที่ศิลปินเลือกนำเสนอเสียมากกว่า รูปประโยคที่ถูกจัดการใหม่แล้ว ไม่ได้ถูกแทนค่าใหม่ หากแต่ถูกสร้างค่าในแง่มุมของการสร้างสรรค์ ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ของความหมายในรูปประโยค กับการนำเสนอภาพถ่ายสถานที่ที่เราๆทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่ามันคือสิ่งใดหรือหมายถึงสิ่งใด จึงเป็นสิ่งที่ยังคงสร้างให้ความสมบูรณ์ของความหมายในตัวอักษรน่าสนใจ หากเราลองจินตนาการถึงป้ายตัวอักษรเหล่านี้ ถูกติดตั้งในสถานที่ใหม่ซึ่งไม่ใช่ที่ที่เราคุ้นเคย หรือเป็นอีกสถานที่ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ก็อาจสร้างมิติใหม่ให้กับการตีความหมาย ร่วมไปกับการสลับตัวอักษรทั้งหมดที่ศิลปินต้องการสื่อสารให้น่าสนใจได้มากขึ้น สิ่งที่น่าประทับใจในงานของจิตติ คือรูปแบบการติดตั้งผลงานจัดวางร่วมกัน ทำให้จินตนาการไปถึงสถูปหรือเจดีย์ที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นไปเป็นยอดปลายแหลม ที่ยังคงบุคลิกเดิมในงานของศิลปินอยู่จากการประกอบขึ้นของสิ่งเล็กๆ โดยมีส่วนประกอบของเนื้อหาและความหมายที่มาจากคำสอนในพุทธศาสนาเป็นรากฐานที่แน่นหนาค่อยๆก่อตัวร่วมกันเรียงกันขึ้นไป อย่างไรก็ตาม การทดลองทำงานใหม่ของจิตติถือเป็นการเปิดออกซึ่งการค้นหาวิธีการใหม่ในการทำงานของเขาเอง และรวมไปถึงการดำเนินชีวิตส่วนตัวที่ศิลปินได้พัฒนาตามลำดับขึ้นของการค้นหาความหมายและแก่นแท้ของสิ่งต่างๆในทางที่ดี และช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความหมายของประโยคที่เป็นประโยชน์ เปรียบเสมือนการเดินทางสำรวจเข้าไปสู่อารมณ์และความคิดของศิลปินที่สะท้อนภาพบางอย่าง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมและสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา
- สุขุม นาคประดิษฐ์
"เป็นงานที่สะท้อนอีกมุมของบุคลิกภาพได้อย่างน่าแปลกใจ เป็นเลเยอร์ที่ลึกลง ไปของสภาวะทางจิตใจที่ทำให้เรานึกถึงภาวะที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง obsession กับจิตแน่วแน่ ถึงแม้ว่างานนี้ของจิตติดูต่างไปมากจาก.านก่อนๆที่ได้แสดง ทั้งเทคนิค ภาพโดยรวม และวิธีการนำเสนอ แต่ว่าความน่าสนใจมันอยู่ที่ สิ่งที่อยู่ภายใต้ งานนี้มันใกล้เคียงกับสิ่งที่อยู่ภายใต้งานก่อนๆ และด้วยงานนี้มันทำให้เราเห็นว่าสิ่งๆเดียวมันสามารถมีตั้งหลายรูปแบบในการแสดงตัว" - ดุจดาว วัฒนปกรณ์
"แปลกในที่ครั้งนี้จิตติเลือกใช้ภาพถ่ายสื่องานของเขา เป็นชิ้นแรกที่เห็นเมื่อเข้าไปใน space แต่ตอนเห็นครั้งแรก ไม่รู้ว่าเป็นงานเขา จนกว่าเจ้าตัวเดินลงมาเลยถามเขาว่างานอยู่ไหน เขาก็ชี้ให้ดูว่า อยู่ข้างหน้าคุณนี่ไง งานของจิตติพูดถึงเรื่องตัวตน พูดถึงเรื่องจิตวิญญาณ ภาพที่เป็นดงป่า ดงป่าที่มีสีสวย มีเส้นทางให้เดิน ผมยืนดูอยู่ค่อนข้างนาน เพราะว่าอยู่ในเมืองนานๆไม่ค่อยได้เห็นป่าไม้ ชอบสีน้ำตาลของลำต้นที่ตัดกับเขียวอ่อน ชอบประโยคในรูปถ่ายรูปหนึ่งที่เขียนว่า "กูรู้จักทุกอย่างในโลกยกเว้นตัวกู" ภาพทั้งหมดทำให้ผมรู้สึกถึงการสะท้อนเช่นในบางรูปถ่าย มีป้ายที่แปะตามต้นไม้ในดงป่า เหมือนป้ายเตือนสติ เหมือนเราขับรถแล้วมีป้ายต่างๆบอกเราว่าเรากำลังไปไหน แต่ในป่านั้นดูเหมือนจะไม่มีทางไหนที่เป็นทางจำเพาะเจาะจง มีแต่ป้ายแปะตามต้นไม้ตามทางที่สะท้อนสภาวะจิตใจให้เรา"
- นพพันธ์ บุญใหญ่
"งานของจิตติ ได้นำพาเรื่องราวจากอีกที่มาไว้อีกที่ เมื่อเรามองงานของจิตติเราจะไม่ได้มองแค่ภาพถ่าย หากพาตัวเองไปที่ที่นั้นจริงๆ บริบททางพื้นที่ ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงบทบาทมากนัก"
THANAPON SERTSANIT
"ครั้งแรกเมื่อเห็นงาน ธนพล เกิดคำถามว่า ทำไมเขาไม่ทำงานเหมือนเมื่อก่อนแต่คิดว่าคงเริ่มแก่ และปล่อยวาง กลับมาอีกครั้ง ผมได้อ่านแนวความคิดของธนพลแล้ว รู้สึกมีอาการเศร้านิดๆ เหมือนกับเราเึคยตอนสมัยทำงานประจำ จำได้ว่าตอนนั้น คิดอยู่สองอย่างคือ เมื่อไรจะเย็นวันศุกร์เสียที จะได้ออกไปเที่ยว กับ เมื่อไรจะสิ้นเดือนเสียที และถ้าเดือนไหนที่มีสูกร์สิ้นเดือนก็จะเมาเละ นี่คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เข้าใจธนพลได้อย่างไม่ยากนัก"
- อลงกรณ์ ศรีประเสริฐ
"งาน painting ของธนพลนั้นก็ทำให้รู้สึกถึงสองประเด็นที่พูดถึง ชิ้นแรกที่เป็นนกสองตัวมองหน้ากัน ดวงตาของนกแต่ละตัวที่ไม่เหมือนกัน ตัวหนึ่งดูนิ่งเฉยอีกตัวดูเรียกร้อง ชิ้นที่สองมีสองคำที่เขียนว่า Home sweet มันทำให้เรานึกถึงสภาวะของคนวาด ว่าเขารู้สึกอะไร เหมือนความโหยหวนอะไรบางอย่างที่ไม่รู้จะคว้ามาได้อย่างไร เลยถ่ายทอดมันออกมาด้วยสีสองสี ผมรู้สึกถึงความอิสระที่ถูกจำกัด การใช้นกที่เป็นสัตว์ที่บินไปไหนก็ได้ ตรงข้ามกับคนที่วาด สีขาวเป็นน้ำหนักที่สำคัญให้ความรู้สึกถึงความนิ่งและว่างเปล่าที่หาได้ยากมากในการใช้ชีวิตของคนสมัยนี้"
- นพพันธ์ บุญใหญ่
" The Lost World ของธนพล เสริฐสนิท เป็นผลงานจิตรกรรมที่มีที่มาของความคิดจากวิธีการดำรงชีวิตในสังคมเมืองอันเต็มไปด้วยเหตุการณ์และประสบการณ์เป็นสื่อสำคัญ ผลงานจิตรกรรมของธนพล ทำหน้าที่เป็นเสมือนหน้าสมุดบันทึกเล่าเรือ่งประสบการณ์บางขณะที่ศิลปินพบเจอ ความทรงจำ รวมไปถึงวิธีการปฏิับัติตนสู่อนาคตที่ยังมาไม่ถึง ผลงานจิตรกรรมทั้งหมดเป็นผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ ความรู้สึก ผ่านสัญลักษณ์ด้วยภาพที่จัดวางอยู่ในบรรยากาศที่ระบุไม่ได้ว่าเป็นเวลาใด แตกต่างออกไปจากความเป็นจริง ความน่าสนใจในผลงานจิตรกรรมของธนพลทั้งหมด คือแรงปรารถนาที่ผลงานโน้มนำด้วยสัญลักษณ์ของความอิสระเสรี พ้นจากภาระและกิเลศทั้งปวง สร้างสุนทรียภาพด้านความงาม ด้วยการตัดทอนสภาพแวดล้อม หรือเนื้อหาบางส่วนจากประสบการณ์ออก คงไว้แต่สิ่งที่ศิลปินประทับใจ จนกลายเป็นความเรียบง่ายบนงานจิตรกรรม เสมือนการเดินทางเข้าไปอยู่ในโลกส่วนตัวที่ศิลปินสร้างขึ้น ผลงานทั้งหมดแสดงความหมายเชิงซ้อนเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ทางสังคมของศิลปินเอง โดยผ่านการคัดสรร ชวนให้จินตนาการถึงสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน ที่อยู่ควบคู่กันอย่างปฏิเสธไม่ได้ ด้วยรูปทรงและประโยคที่สื่อไปถึงแก่นแท้ของความเป็นจริง ผลงานโดยภาพรวมทั้งหมดยังคงไว้ซึ่งความเป็นลักษณะเฉพาะตนของธนพลที่ปรากฎในงานที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งเดียวที่ต่างออกไปคือการลดช่องว่างระหว่างความละเอียดอ่อนในรายละเอียดที่สร้างผลทางส่วยตาของชิ้นงานเพียงเท่านั้น หมายถึงพื้นที่สีขาว ซึ่งเป็นฉากหลังของรูปทรงที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้น ที่ยังคงทำงานกับพื้นที่โดยรอบตัวงานได้อย่างอิสระ แต่ไมไ่ด้ถูกสร้างความต่างในเชิงนัยยะและเทคนิคทางจิตรกรรมเพิ่มเติมเข้าไป เช่น ความมัน ความด้านของสี การสร้างพื้นผิวและร่องรอยทับซ้อนกันด้วยสี ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยภาพรวมของผลงานทั้งหมด ผู้เขียนมองเห้นว่า สิ่งที่ขาดในผลงานไม่ได้สร้างปัญหาให้กับความหมายในงานแต่อย่างใด แก่นแท้ของงานที่ศิลปินต้องการแสดงออก ยังคงทำหน้าที่ได้อย่างชัดเจน ปัญหาของเทคนิคในงานถือเป็นเรื่องการพัฒนาและเจตนาที่ศิลปินเลือกใช้มากกว่า ผลงานจิตรกรรมที่เป็นสมุดบันทึกเล่าเรื่องจากภาพที่ธนพลสร้างขึ้น จึงยังคงสัมผัสได้ถึงจินตนาการที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงที่มีความหมายกับชีวิตต่อไป"
- สุขุม นาคประดิษฐ์
"งานของธนพลใช้สีน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก เนื้อหาได้กลายมาเปนส่วนสำคัญความที่ภาพ ดูเหมือนไม่มีอะไรมาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีเสียงเบาๆที่ออกมาจากตัวงาน ที่ดูเหมือนกำลังจะพูดอะไรบางอย่างกับเรา เหมือนงานกระซิบกระซาบพูดคุยกันอย่างแผ่วเบา จนทำให้เราอยากรู้และตามเข้าไปดู"
- จิตติ จำเนียรไวย
"ความตรงไปตรงมาและความหมายที่ชัดเจน ที่ดูเหมือนเลือกมาแล้ว สร้างความสงสัยในสิ่งที่ไม่ได้ถูกวาดถึง บนพื้นที่ขาวๆที่เหลือรอบๆ ความชัดของบางรายละเอียด ก่อให้เกิดการตั้งคำถาม ต่อสิ่งที่ดูเหมือนจะถูกบอกด้วยน้ำเสียง แบบ "ธรรมดาๆ" แต่มันก็ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่นั้นเสียทีเดียว สีแดงกับสีดำนำความเข้มข้นของความรู้สึกหลายอย่างมาสู่ภาพ แต่มันทำให้เราเกิดคำถามเมื่ อเจอเส้นสีอ่อนโยนและใจเย็น"
- ดุจดาว วัฒนปกรณ์
DUJDAO VADHANAPAKORN
"ชอบมากๆ รู้สึกเหมือนเราถูกดึงให้เปนส่วนหนึ่งของงาน และดุจดวเองก็ทำให้เราเหมือนถูกมองจากภายนอกเช่นเดียวกันอารมณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในห้องขณะทำการแสดง รู้สึกเหมือนดังว่าเราถูกยืนอยู่ในที่โล่งและในที่ที่ผู้คนเบียดเราจนไม่สามารถขยับไปไหนได้เลยในเวลาเดียวกัน"
- จิตติ จำเนียรไวย
"ดุจดาว วัฒนปกรณ์ กับผลงานที่มีชื่อว่า Privillege space of Mine/Mind เป็นผลงานศิลปะแสดงสดประกอบร่วมกับศิลปะการจัดวาง ศิลปินสร้างผลงานจากพื้นที่ใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนคาบเกี่ยวกันกับบริบทของพื้นที่ทางศิลปะ และความเชื่อระหว่างผู้สร้างงานกับผู้ชมงานศิลปะ ประเด็นที่ดุจดาวยกขึ้นมาทำงานในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องจริงที่น่าสนใจ ในระหว่างการแสดงงาน (ศิลปะแสดงสด) ของศิลปินบนพื้นที่และขอบเขตของงานจัดวางที่กำหนดด้วยเส้นอย่างง่ายบนห้องแสดงงาน ส่วนสำคัญที่สุดของงานดูเหมือนจะเป็นคำเชื้อเชิญในทางภาษาระหว่างที่ศิลปินกำลังแสดงผลงานที่ทับซ้อนอยู่บนความเชื่อบางอย่าง ซึ่งถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษรเป็นส่วนหนึ่งของงานจัดวาง ถ้อยคำง่ายๆที่ดุจดาวสร้างขึ้นในงานดูเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ บางครั้งดูเหมือนเป็นคำถามชวนให้จินตนาการถึงความเป็นจริงและเรื่องไม่จริงในเวลาเดียวกัน ชิ้นงานแสดงสดสร้างขอบเขตบางอย่างซึ่งอาจหมายถึงการก้าวล้ำไปในพื้นที่ส่วนบุคคลที่ทับซ้อนอยู่บนพื้นที่สาธารณะได้เป็นอย่างดี หรืออาจถูกโยงไปถึงระบบความเชื่อในประเพณีของสิ่งต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นและปกคลุมด่้วยกติการะหว่างบุคคล หรือระหว่างความเป็นไปได้และเป็นไปไมไ่ด้ เนื้อหาหลักของศิลปินนั้นถูกแสดงออกอย่างกระชับ หากแต่มีบางส่วนซึ่งเป็นความประทับใจส่วนบุคคลของศิลปินเอง เข้ามาปะปนจนทำให้เกิดความสับสนในการรับส่งข้อมูลและสารต่างๆที่ศิลปินต้องการแสดงออก ในส่วนของการแสดงออกด้านร่างกาย (ศิลปะแสดงสด) ของดุจดาวไ ม่มีส่วนใดที่ผู้เขียนมีข้อสงสัยเนื่องจากตัวศิลปินผู้สร้างงาน เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความถนัดโดยตรง สิ่งเดียวที่ยังคงดูแปลกตาคือการสร้างพื้นที่ของงานจัดวางในห้องแสดงงาน ที่อาจยังคงไว้ด้วยลักษณะของการสื่อสร้างที่เพียบพร้อมจนเกินไป หากศิลปินทดลองหรือตัดทอนส่วนที่ไม่จำเป็นออก คงไว้แต่ีสิ่งที่จำเป็นด้านทัศนธาตุของศิลปะ ผู้เชียนเชื่อว่าผลงานทั้งหมดของดุจดาวจะกลายเป็นข้อความหนึ่งที่พูดด้วยน้ำเสียงที่ดังและคงเนื้อหาที่หนักแน่นได้อย่างเดิม"
- สุขุม นาคประดิษฐ์
"ชอบการที่ดุจดาวทำงานกับ space งานที่ใช้ดินสอเขียนบนมุมกำแพงนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้คนต้องเข้าไปอ่านใกล้ๆ แล้วต้องตั้งใจอ่านดีๆด้วย มีการพูดกันอย่างจริงจังว่าพวกเราน่าจะแปะราคาขายงานไปเลย ผมก็คิดว่างานชิ้นนี้จะประมูลราคายังไงเพราะสิ่งที่เขียนไว้บนกำแพงนั้นมีค่าพอสมควรไม่ใช่คำพูด abstract แต่เป็น "extracts" เกี่ยวกับการแสดง จากประสบการณ์ของคนเขียน ซึ่งกำแพงนี้ก็จะเป็นพื้นที่ที่จะรองรับในส่วน "performance" ที่เธอจะแสดง การเล่นกับโปรเจคเตอร์ที่ฉายคลิปสั้น เธอเล่นกับสิ่งทีเ่กิดในภาพวีดีโอ เพื่อให้เกิดภาพอีกภาพสำหรับคนดู เป็นเหมือนการเล่นกับมิติ ใช้ความ magic realism บวกกับจินตนาการของคนดู และการใช้วัตถุผสมผสานกัน เสื้อและส้นสูงของเธอที่ไปแปะบน กำแพงแล้วกลายเป็นเืสื้อและส้นสูงของผู้หญิงที่อยู่ในวิดีโอไปถึงคำถามที่ลอยอยู่ข้างหน้าคนดูตลอดเวลาเกี่ยวกับประเด็นของ "performance"
- นพพันธ์ บุญใหญ่
"ผมมองงานขอดุจดาว เวลาที่เล่นเสร็จแล้วกับการที่พบตัวอักษรที่ดุจดาวเขียนขึ้นมา นั่นคือบทสรุปในตัวชิ้นงาน ภาษาที่ถูกสร้างขึ้นนำมาตีความผ่านการแสดงที่เต็มไปด้วยอรรถรสที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาหนึ่ง น่าเสียดายแทนคนที่ไม่ได้ดู ภาษาร่างกายถูกนำมาใช้อย่างถูกจังหวะ ดุจดาวทำเรื่องยากที่ใช้ทัศนธาตุมาก
กว่าคนอื่น นำมาใช้อย่างลงตัว และแสดงกายภาพออกไปได้อย่างสวยงาม หากแต่เวลาผ่านไปนานเท่าภาพที่ติดตา งานของดุจดาวก็วนเวียนอยู่ที่พื้นที่นั้นอย่างไม่รู้จักจบ ต่างจากคนอื่น ที่เมื่อมองผลงานก็จะพาคนไปอีกพื้นที่พื้นที่หนึ่ง"
- อลงกรณ์ ศรีประเสริฐ
NOPHAND BOONYAI
"งานทำให้นึกถึงคำว่า "คู่เดียว เร็ว แป๊บเดียว" เพราะด้วยเทคนิคการใช้แสงและการถ่ายภาพแบบนั้น ให้ความรู้สึกเหมือนตอนที่เห็นคำหัวข้อของงานแสดง "
- ดุจดาว วัฒนปกรณ์
"ครั้งแรกที่เหนรู้สึกไปถึงการเคลื่อนไหวของร่างกายกับความรู้สึกที่ดูเหมือนเกิดเปนคำถามได้ว่า ความรู้สึกที่เกิดซ้ำและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น เราตามมันไปทันหรือไม่"
- จิตติ จำเนียรไวย
"นพพันธ์ใช้ขบวนการสร้างสรรค์ ซ้อนความเป็นละครไว้ในระนาบสองมิติแต่ที่น่าสนใจคือ หากเรใช้เวลาอยู่กับภาพนั้นนานๆ ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวไปมา ล้อเล่นกันระหว่างภาพต่อภาพ"
- อลงกรณ์ ศรีประเสริฐ
"นพพันธ์ บุญใหญ่ กับผลงานภาพถ่ายชื่อ Binded by the lights เป็นภาพที่แสดงการโต้ตอบกันระหว่างผู้สร้างงานกับภาพที่ปรากฎขึ้นจากการคาดเดาระหว่างการสร้างผลงาน เป็นบทสนทนาภายในจากภาวะซึ่งขาดการควบคุมจากความต้องกาารของศิลปินที่ต้องการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ นพพันธ์เชื่อมโยงตัวเองไว้กับคำถามถึงความเป็นอัตลักษณ์หรือความเป็นบุคคล แสดงออกด้วยเส้นสองชนิดประกอบด้วยเส้นที่สร้างขึ้นจากแสงไฟและเส้นที่มาจากการเคลื่อนไหวร่างกาย ความประทับใจในงานของนพพันธ์ที่สร้างขึ้นไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง เมื่อผลงานเสร็จสิ้นแล้ว หากแต่อยู่ในกระบวนการแสดงออกระหว่างการสร้างผลงานมากกว่า สิ่งที่น่าสนใจของการเคลื่อนไหวร่างกายถูกเปรียบเทียบเชื่อมโยงไปสู่ความสัมพันธ์จากอดีตไปสู่อนาคต ที่เราไม่ได้เป็นผู้กำหนดแค่เพียงข้างเดียว ศิลปินชี้แจงเจตนาของแนวความคิดผ่านวิธีการซึ่งเราเห็นได้แค่เพียงบางขณะ เมื่อผลงานถูกคัดเลือกมาติดตั้งและจัดแสดง สิ่งสำคัญที่แสดงออกจากแนวความคิดจึงอาจถูกคัดสรรออกมาไมไ่ด้ทั้งหมด ความหมายและคำถามจากสิ่งต่างๆที่อยู่ภายในของศิลปินเองระหว่างการทำงานดูจะิเลือนหายไป เหลือไว้เพียงแค่ภาพที่ศิลปินต้องการในหน้าที่ของผลงานภาพถ่าย ที่อาจทำหน้าที่ได้แค่รูปแบบของงาน โดยภาพรวมจากส่วนที่ศิลปินต้องการทดลองทำงานในรูปแบบต่างๆ จากผลงานทั้งหมดที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้น ผู้เขียนจินตนาการไปถึงภาพเคลื่อนไหว ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยแสงไฟจากทิศทางของเส้นบนร่างกายมนุษย์ ล่องลอยไร้ทิศทาง แต่ไม่ปรากฎภาพมนุษย์ มีความหมายเกี่ยวกับการไม่มีที่สิ้นสุดของความเป็นมนุษย์ ไร้ข้อจำกัดทางด้านความต้องการ ภาพที่เหลืออยู่เสมือนเป็นแค่แสงไฟจากดวงวิญญาณที่กำลังค้นหาทางออกให้กับตัวตนและสนองความต้องการของตนจากเหตุการณ์และประสบการณ์ที่ค่อยๆผ่านไปอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ว่าเส้นและทิศทางของมันจะเดินทางต่อไปอย่างไร ถึงแม้ว่ากฏเกณฑ์และกรอบของเทคนิคที่ศิลปินเลือกใช้ จะทำให้ข้อความที่ศิลปินต้องการนำเสนอขาดหายไปบางส่วน ในทางกลับกันพบว่านพพันธ์ได้คัดเลือกสิ่งที่เหมาะสมจากการทำงานที่สอดคล้องไปกับวิธีคิดและความรู้สึกของตนเองได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ผลงานโน้มน้าวให้จินตนาการต่อไปถึงเรื่องราวต่างๆที่เราอาจมองไม่เห็นหรือมองผ่านไป ผ่านภาพถ่ายที่ทำหน้าบันทึกภาพช่วงเวลาและสัญชาตญาณบางอย่างที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน"
- สุขุม นาคประดิษฐ์
ALONGKORN SRIPRASERT
"สิ่งที่ลอยคลุ้งออกมาเป็นเรื่องราวของความรู้สึกที่สะท้อนให้เห็นมุมมองของตัวศิลปินเมื่อได้หัวข้องานมาคิด งานชัดเจนและเป็นคำถามปลายเปิดเกี่ยวกับการให้ความรู้สึกต่อยอดไปทั้งข้างหน้า ข้างหลัง และข้างๆ หลายทิศทาง ไดนามิคที่ซึ่งสะท้อนเมื่อมองงานทำให้เล่นสนุกในเชิงความคิดและอารมณ์ สิ่งที่นำเสนอไม่ใช่เรื่องใหม่ ง่าย แต่สื่อสารได้จัีบใจ "
- ดุจดาว วัฒนปกรณ์
"เราได้คุยแนวคิดถึงชิ้นงานนี้กับอลงกรณ์พอสมควร จึงได้รู้สึกถึงความรู้สึกที่มีทั้ง ความทุกข์ ความสุข การรอคอย ความคิดถึงการไม่อยากสูญเสียเป็นงานที่ให้ความรู้สึกทั้งหมดได้พร้อมๆกันเลยทีเดียว"
- จิตติ จำเนียรไวย
"เล่าเรื่องผ่านภาพ โดย อลงกรณ์ ศรีประเสริฐ เป็นผลงานภาพถ่ายเช่นเดียวกับนพพันธ์ บุญใหญ่ หากแต่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ด้วยวิธีการนำเสนอและเนื้อหาแนวความคิดของงานทั้งหมด ภาพถ่ายของอลงกรณ์เล่าเรื่องประสบการณ์ ภาระ และความรับผิดชอบ โดยเปรียบเทียบเนื้อหาจากสองเหตุการณ์เข้าไว้ด้วยกัน ศิลปินเลือกบันทึกภาพบุคคลวางเคียงข้างไว้กับภาพสถานที่ซึ่งมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับตัวศิลปินเอง โดยใช้รูปแบบง่ายๆ ตัดทอนภาระด้านเทคนิคออก ไม่เหมือนภาพผลงานที่ผ่านมาของศิลปินเองที่มักใส่ใจ ควบคุมผลทางด้านเทคนิคของภาพถ่ายได้เป็นอย่างดี ผลของการบันทึกภาพแบบเรียบง่ายที่อลงกรณ์สร้างขึ้น ส่งผลดีในแง่มุมของความเป็นจริงที่ปรากฎอยู่บนผลงาน บุคคลและภาพทิวทัศน์ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ด้วยความหมายของกาลเวลาและความเป็นไปที่เป็นเรื่องราวเดียวกันกับความรับผิดชอบของตัวศิลปินในอีกช่วงเวลาหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจในผลงานทั้งหมดคือศิลปินไมไ่ด้สร้างสัญลักษณ์ใหม่เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ชมเดินทางเข้าไปตีความหมายแต่อย่างใด หากแต่ใช้สัญลักษณ์เดิม ความหมายเดิมที่มีอยู่แล้วเผยแพร่ความจริง เกี่ยวกับอารมณ์ความรุ้สึกของตัวเองได้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ส่วนต่างในผลงานของอลงกรณ์อาจขึ้นอยู่กับความยากที่จะเข้าใจในที่มาของภาพเหล่านั้นจากประสบการณ์ของผู้ชมเอง หากศิลปินสร้างภาพบางอย่างหรือสัญลักษณ์บางอย่างขึ้นระหว่างภาพหรือระหว่างการติดตั้งของผลงานทั้งหมด ผู้เขียนมีความเชื่อว่าผู้ชมสามารถสัมผัสจินตนาการและเรื่องเล่าที่ศิลปินต้องการแสดงออกได้มากขึ้น ภาพถ่ายทั้งหมดของอลงกรณ์ที่จัดแสดงเป็นเรื่องของเวลาเฉพาะตนผ่านเวลาในอดีต มีสาระและความหมายในตัวเอง บอกเรื่องราวของชีวิตผ่านการจัดวางที่สงบนิ่ง ซ่อนความสันโดษและเงียบเหงา รอคอยและตั้งคำถามถึงวันข้างหน้ากับผู้ชมและตัวศิลปินเองผ่านผลงานอย่างเงียบๆ"
- สุขุม นาคประดิษฐ์
"ผมรู้สึกถึงความ sentimental ในงานของอลงกรณ์ ผมเห็นแล้วรู้สึกว่ามันกำลังบอกเรื่องที่มีความหมายที่สำคัญสำหรับเขา วัตุที่เขาใช้ก็คือประสบการณ์ที่เขารู้สึกตอนนั้น มันรู้สึกถึงความส่วนตัวของชีวิตเขาเคยเห็นงานก่อนหน้านี้ของอลงกรณ์ เขาจะโดดเด่นทางจังหวะและแสงงานเลยออกมาสวยทีเดียว เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่างานแบบนั้นต้องมีการset up ล่วงหน้าที่พอดิบพอดี แต่เมื่อเห็นชิ้นนี้ผมรู้สึกถึงสิ่งที่เรียกว่าspontaneous อะไรที่เกิดขึ้น ณ บัดนั้น แล้วเขาก็บันทึกมันเก้บไว้ได้"
- นพพันธ์ บุญใหญ่
SUKHUM NAKPRADITH
"เทคนิคงานลบเลือนสิ่งที่เรียกว่าขอบเขตของสิ่งที่อยากจะเชื่อและอยากจะเห็นเมื่อเล่นกับการรับสัมผัสของคนมันก็ย่อมส่งผลอย่างมีประสิทธิภาพต่อภาวะและพฤติกรรมขณะดูงาน และนั่นมันก็ต่อไปถึงความรู้สึกที่เกือบจะคิดว่าไม่มี เส้นง่ายๆและมิติของงานเป็นสิ่งที่เปิดไปสู่ความคิดที่เกินจริง"
- ดุจดาว วัฒนปกรณ์
" ที่ชอบคือชิ้น Left Right ซ้ายและขวาที่เรารู้สึกตามที่เป็นจริงอยู่ตรงหน้า แต่พอกลับมุมมองที่ยืน ซ้ายก็เปลี่ยน ขวาที่เคยอยู่ในที่นั้นก้อถูกเปลี่ยน ทั้งตัวเราและตัวของงานถูกหมุนออกไปจากความเป็นจริงไปพร้อมๆกัน"
- จิตติ จำเนียรไวย
"ครั้งแรกที่เห็นงานของสุขุม มันทำให้ผมนึกถึงความเป็นช่างฝีมือ ทำให้ผมนึกถึงการที่ต้องตัดแผ่น acrylic ที่เขาใช้ ทำให้นึกถึงตอนที่ต้องตัดแผ่นสติ๊กเกอร์แล้วนำมาแปะให้มันตรงเท่ากันทุกเส้น เพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ที่เขาต้องการ มันทำให้นึกถึงตอนเป็นเด็กที่ต้องเรียนศิลปะ และเรียนช่าง ที่เราต้องประดิษฐ์สิ่งของจากไม้
หรือพลาสติคด้วยมือสองมือของเราเอง สุขุมได้เอา optical illusion มาใช้ถ้าเดินผ่านประโยค "under neon loneliness" ก็จะเปลี่ยนไป หรือถ้ามองจากบางมุมก็แทบจะไม่เห็นมันเลย มีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ที่นั่นถามเขาว่า อะไรคือunder neon loneliness เราฟังเพลงนี้เป็นร้อยๆครั้ง ชอบมาก แต่ตอนนั้นก็ถามตัวเองเหมือนกันว่ามันคืออะไร แต่ก็จำไม่ได้ หรืออาจจะไม่รู้ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำอยากรู้เมหือนกันว่ามันคืออะไร แต่คำตอบล่องลอยไปกับอากาศแล้ว ฟังไม่ทันตอนนั้น ตัวเราเองก็ยืนอยู่ตรงมุมที่ทำให้มอง under neon loneliness ไม่ค่อยชัด"
- นพพันธ์ บุญใหญ่
"เมื่อภาษาภาพ ถูกนำมาเน้นย้ำอีกครั้ง กับมิติที่ถูกสร้างขึ้นมา ผมมองมิติในผลงานของสุขุม ผมคิดว่ามีมติที่เกิดขึ้น คือการเคลื่นไหวที่แท้จริงแล้วเกิดจากการกระทำของตัวเรา หากเราไม่ต้องการจะรู้ เราก็ไม่ต้องขยับตัวไปหาความหมายของมัน นัยยะต่อพฤติกรรมที่ต้องการจะเห็นอะไรที่อยู่ตรงหน้าหากรู้แ้ล้วไม่สนใจก็จะปล่อยปะละเลย หากต้องการจะรู้ ก็จะหาเหตุผลต่อเนื้องานที่แท้จริง ผลงานชิ้นนี้ เต็มไปด้วยความรู้สึกที่ตั้งคำถามกลับไปยังผู้ชม"
- อลงกรณ์ ศรีประเสริฐ